เรื่องเด่น ผู้ครองผ้ากฐิน

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 4 ตุลาคม 2019.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    024.jpg

    "ในส่วนของงานกฐินนั้น ที่สำคัญอีกอย่างก็คือผู้ครองผ้ากฐิน ซึ่งถ้าว่ากันโดยพระธรรมวินัยแล้ว ท่านให้บุคคลที่มีจีวรเก่าที่สุดในวัดได้ผ้านั้นไป แต่ว่าระยะหลัง ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเจ้าอาวาสที่เป็นผู้ครองผ้ากฐิน

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า บางท่านถือว่าผู้ครองกฐินจึงมีสิทธิ์ที่จะรับบริวารกฐินทั้งหมด ผู้อื่นไม่มีสิทธิ์รับ เจ้าอาวาสก็เลยมักจะครองกฐินเสียเอง แต่ความจริงแล้วเป็นการเข้าใจผิด เพราะว่าบางวัดมีพระไม่ครบ ๕ รูป ไม่สามารถที่จะรับกฐินได้ ต้องไปยืมพระวัดอื่นมา

    การไปยืมพระวัดอื่นมานั้น พระวัดอื่นที่มานั้น ไม่มีสิทธิ์ไม่มีส่วนในกฐินนั้นทั้งสิ้น ให้เฉพาะบุคคลที่จำพรรษาในวัดนั้นเท่านั้น ดังนั้น...จึงมีการเข้าใจผิดกันว่า ถ้าไม่ครองกฐินแล้วจะไม่มีโอกาสได้รับบริวารกฐิน ซึ่งก็คือไม่มีสิทธิ์รับเงิน ก็ขอให้เข้าใจให้ถูกเสียใหม่

    สำหรับวัดท่าขนุนของเรานั้น ครองกฐินกันไปตามอายุพรรษา ก็คือถ้าปีนี้ไปถึงใคร ปีหน้าท่านถัดไปก็จะรู้เองว่าถึงคิวของตนเองครองกฐินแล้ว สำหรับผู้ครองกฐินนั้นต้องรับภาระหนัก เพราะว่าต้องเป็นผู้รักษาผ้าครองแทนพระทั้งวัด ในเมื่อเป็นผู้รักษาผ้าครองแทนพระทั้งวัด บุคคลที่ได้อานิสงส์กฐินสามารถผ่อนคลายสิกขาบทได้หลายข้อ พูดง่าย ๆ ก็คือ ละเว้นให้ไม่ต้องรักษาศีลหลายข้อ อย่างเช่นว่าการเที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา ซึ่งปกติแล้ววัดท่าขนุนของเราไม่ยอมให้ไปโดยไม่ต้องบอกลา ออกจากวัดไปไหนจะต้องลาทุกคน อานิสงส์กฐินข้อนี้จึงไม่มีประโยชน์สำหรับพระวัดท่าขนุน

    สามารถฉันคณะโภชนาได้ ก็คือโดยปกติแล้ว ถ้าญาติโยมบอกว่านำอาหารอะไรมาถวายพระ พระไม่สามารถที่จะฉันรวมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปได้ เพราะว่าเป็นการผิดพระวินัย"

    "สาเหตุมาจากสมัยพุทธกาล เมื่อมหาเศรษฐีท่านบอกว่าจะถวายภัตตาหารอะไร พอเป็นอาหารที่ประณีต มีรสดี บรรดาพระก็แห่กันไปจนเขาเลี้ยงไม่ไหว พระพุทธเจ้าจึงต้องตรัสห้ามไว้ว่า ถ้าเป็นอาหารที่เจ้าภาพออกชื่อ ให้ฉันได้ไม่เกิน ๓ รูปเท่านั้น ถ้าถึงรูปที่ ๔ ขึ้นไปเรียกว่าคณะ ถ้าฉันคณะโภชนาแบบนั้น โดนปรับอาบัติทุกคำที่กลืนลงไป ก็แปลว่าศีลขาดทุกคำที่กลืน แต่หากว่ารับกฐินแล้วสามารถฉันคณะโภชนาได้

    ลำดับต่อไป คือ ฉันปรัมปรโภชนาได้ คำว่า ปรัมประ ก็คือฉันจากที่หนึ่งแล้วไปฉันอีกที่หนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ เพราะเกรงว่าจะฉันได้น้อย บางทีเจ้าภาพเขาก็เสียใจ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องมาใช้กับอาตมา เพราะว่าฉันน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว

    ข้อต่อไปท่านบอกว่า ไปไหนไม่ต้องเอาจีวรไปครบสำรับ เพราะว่ามีผู้ครองกฐินรักษาผ้าแทนเราแล้ว
    ข้อสุดท้าย ก็คือ จีวรที่เกิดขึ้นไม่ต้องทำวิกัปเป็น ๒ เจ้าของ สามารถที่จะใช้เป็นของตนเองได้เลย"

    https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5830
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...