เรื่องเด่น การปฏิบัติธรรมนั้นยิ่งทำ สภาพใจต้องยิ่งละเอียดขึ้น และต้องสามารถใช้ในชีวิตประจำวันของเราด้วย

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 16 มีนาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,386
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,529
    ค่าพลัง:
    +26,367
    lp030.jpg
    เรื่องของการปฏิบัติธรรม อาตมาเคยบอกกล่าวมามากแล้วว่า เรายิ่งทำสภาพจิตต้องละเอียดขึ้น ต้องสามารถใช้ผลของการปฏิบัติธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราให้ได้ แม้กระทั่งเรื่องจอดรถขวางทางคนอื่นในวันนี้ก็ดี แสดงว่าเราไม่ได้สังเกตว่า ถ้าพอถึงเวลารถคันอื่นผ่านไปผ่านมา หรือว่าตีวงเลี้ยวจะไปได้หรือไม่ได้ ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นความมักง่ายจนเคยชิน เอาสะดวกเข้าว่า โดยไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะลำบากเดือดร้อนต่อการกระทำของเราอย่างไร

    ถ้าอย่างนี้เราไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม ก็มีแต่จะทำให้คนอื่นเขาปรามาสเอาซึ่งหน้าว่า เราเป็นนักปฏิบัติแล้วทำไมยังมีสภาพจิตที่หยาบจนขนาดนี้ ?

    แม้กระทั่งการคุยแข่งเสียงการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ในเมื่อเสียงตามสายดังขึ้น ก็ไม่ควรที่จะส่งเสียงรบกวนแล้ว เพราะจะมีแต่โทษต่อตนเอง ตักเตือนแล้วก็ยังไม่รู้ตัว ต่อให้มีเรื่องจำเป็นอะไรก็ใช้วิธีเขียนหนังสือส่งกัน หรือใช้กระซิบเอาก็ได้ ไม่ใช่พูดกันทีหนึ่งได้ยินกันไปครึ่งค่อนห้อง

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องแปลก แปลกตรงที่ว่าบุคคลพออยู่ใกล้กับพระไปนาน ๆ แล้วก็มักจะลืมตัว อันดับแรก ก็คือ ลืมว่าพระมีศีลที่ต้องรักษา มักจะทำตัวตามสบาย ถ้าหากว่าพระท่านพลอยตามสบายไปด้วย ก็เท่ากับพาพระลงนรกไปโดยไม่รู้ตัว

    อีกประการหนึ่ง ก็คือ พอคุ้นเคยเข้าก็ปราศจากความเกรงใจ กลายเป็นหาโทษใส่ตนเอง เพราะลืมสถานภาพว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพระ เท่าที่พบมาก็มีมากต่อมากด้วยกัน ที่เห็นพระเป็นเพื่อน คลุกคลีตีโมงกันเหมือนอย่างกับเพื่อน ๆ ฆราวาส เรื่องแบบนี้ถ้าหากว่าพระรู้ก็ต้องเตือนให้โยมทราบ ขณะเดียวกัน...ถ้าโยมรู้ก็ควรที่จะต้องเตือนสติพระท่านด้วย

    โดยเฉพาะบุคคลเมื่อมาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของผู้ใด ก็ควรจะยกท่านไว้ในฐานะอันสูง ทำตามสิ่งที่ท่านบอกกล่าวหรือว่าทำเป็นตัวอย่างให้ แต่ที่วัดท่าขนุนก็มีอยู่ ถึงเวลาออกนอกคอก ออกนอกระเบียบ แล้วก็ใช้คำพูดว่า "อย่าไปบอก...เดี๋ยวหลวงพ่อจะรู้" ซึ่งเรื่องทั้งหลายเหล่านี้พอได้ยินแล้วก็สลดใจ ว่านี่ตกลงเขาเชื่อฟังอาตมาจริงหรือเปล่า ? เขาเป็นนักปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า ? มีกำลังในการต่อต้านกิเลสจริงหรือเปล่า ?

    ในเมื่อคล้อยตามต่ออำนาจของฝ่ายต่ำ ฝืนระเบียบฝืนวินัย แล้วก็ใช้คำว่า "อย่าพูดไป...เดี๋ยวหลวงพ่อท่านจะรู้" แล้วมั่นใจหรือว่าท่านจะไม่รู้ ? เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ถ้าหากว่าทำไป ก็จะมีแต่พาตนเองให้เสื่อม พาครูบาอาจารย์ให้เสื่อม ท้ายสุดก็พาศาสนาให้เสื่อม โดยเฉพาะบุคคลที่เลื่อมใสอยู่แล้ว ก็อาจจะเสื่อมความเลื่อมใสลงไป ส่วนบุคคลที่ไม่เลื่อมใส จะนำข้อผิดพลาดเหล่านี้ไปโจมตีได้ว่า ถ้าหากครูบาอาจารย์ดีจริง ต้องสั่งสอนลูกศิษย์ให้ดีกว่านี้ จนกลายเป็นข้อเสียหายใหญ่ในพระพุทธศาสนา

    จึงอยากจะเตือนสติพวกเราอีกครั้งหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรมนั้นยิ่งทำ สภาพใจต้องยิ่งละเอียดขึ้น และต้องสามารถใช้ในชีวิตประจำวันของเราด้วย คือ ระมัดระวังอย่าเผลอสติ อย่าเห็นพระเป็นเพื่อน อย่าทำความสนิทสนมกับครูบาอาจารย์จนเกินไป เพราะมีแต่โทษมากกว่าจะมีประโยชน์ เนื่องจากบางอย่างพอก้าวล่วงไป ก็เป็นการปรามาสพระรัตนตรัย เท่ากับปิดมรรคปิดผลของตนเองไปโดยปริยาย การปฏิบัติธรรมนั้นสภาพจิตที่ละเอียดขึ้น จะพัฒนา กาย วาจา ใจ ของเราให้อยู่ในกรอบมากขึ้น อยู่ตามแนวมากขึ้น เพื่อตรงไปสู่ความหลุดพ้น

    การพัฒนากาย วาจา ของเรา ก็คือศีล เราต้องระมัดระวังศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งละเมิดศีล การพัฒนาจิตของเรา ก็คือ ต้องสร้างสติให้มั่นคง สร้างสมาธิให้เกิด ต้องมีสติสมบูรณ์พร้อม แค่ขยับตัวก็รู้ว่าศีลจะขาดหรือไม่ แค่ขยับตัวก็รู้ว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้ถูกต้องตามธรรมตามวินัยหรือไม่ ถ้าหากว่าเราสามารถพัฒนา ศีล สมาธิ ของเราให้ดีขึ้น เท่ากับเป็นการพัฒนาปัญญาของเราไปในตัว

    โดยเฉพาะอย่าลืมความรู้สึกที่ว่าเราต้องตายเอาไว้เสมอ ในเมื่อรู้ตัวว่าต้องตายเราก็จะไม่ประมาท เร่งพัฒนา กาย วาจา ใจ ของตนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งท้ายที่สุดก็สามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

    ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันศุกร์ที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...